เกี่ยวกับศูนย์ภาษาไทย

ความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์
           ภาษาไทยเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันของคนไทย อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ พัฒนาบุคลิกภาพและส่งเสริมสมรรถนะในการประกอบอาชีพในสังคมไทย ความสำคัญนี้ครอบคลุมไปถึงชาวต่างชาติที่ใช้ภาษาไทยเพื่อการศึกษาและการทำงานในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
           ในด้านการศึกษา ภาษาไทยมีฐานะเป็นเครื่องมือในการคิดตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง ใช้แสวงหาความรู้และแสดงออกถึงความรู้ความสามารถผ่านทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ในแทบทุกสาขาวิชาจึงจำเป็นต้องอาศัยภาษาเพื่อประกอบสร้างมโนทัศน์ต่างๆ และประมวลขึ้นเป็นองค์ความรู้ นอกจากนั้น ในการเลื่อนระดับการศึกษาหรือศึกษาต่อขั้นสูง ภาษาไทยก็ถูกนำไปใช้เป็นสิ่งชี้วัดระดับความสามารถในการศึกษาต่อ ซึ่งครอบคลุมไปถึงนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ต้องการเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในระบบกลางก็ต้องได้รับประกาศนียบัตร IGCSE (The International General Certificate in SecondaryEducation) ซึ่งภาษาไทยเป็นทักษะหนึ่งในการทดสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรดังกล่าวและนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยระบบกลาง กรณีนักศึกษาต่างชาติที่ประสงค์ศึกษาในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาไทยในระดับและสาขาวิชาต่างๆ ของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยก็จำเป็นต้องแสดงถึงระดับสมรรถภาพทางภาษาไทยด้วยเช่นเดียวกันเพื่อบ่งชี้ถึงระดับความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการเรียนรู้
           ในด้านการทำงาน ทักษะและความเชี่ยวชาญทางภาษาจัดเป็นสมรรถนะที่ส่งเสริมการทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกสาขาวิชาชีพโดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความสำคัญแก่ Soft skill เท่าเทียมหรือมากกว่าทักษะความรู้หรือทักษะวิชาชีพ (Hard skill) นั้น ภาษาจัดได้ว่าเป็นพื้นฐานของการใช้ Soft skill เหล่านั้นไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองตลอดชีวิต การติดต่อระหว่างบุคคล การทำงานเป็นทีม การต่อรอง ฯลฯ เช่น สายงานการต้อนรับและบริการ ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยอาชีพต่างๆ เช่น ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับ พนักงานรับโทรศัพท์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ พนักงานดูแลลูกค้า ฯลฯ แต่ละอาชีพมีลักษณะงานและหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ล้วนต้องอาศัยสมรรถนะทางภาษาเป็นส่วนสำคัญมาใช้ร่วมกับความรู้ตามลักษณะงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายงานบริการการศึกษา สายงานธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ สายงานสื่อสารมวลชน สายงานภาษาต่างประเทศ และล่ามแปล สายงานบริหารงานบุคคล เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้สมรรถนะทางภาษาไทยในการประกอบอาชีพ หรืออาจกล่าวได้ว่า จำเป็นต้องกำหนดระดับสมรรถภาพทางภาษาไทยเพื่อการประกอบอาชีพ
           ทั้งนี้กระบวนการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาสมรรถภาพการใช้ภาษาไทย คือ การทดสอบเพื่อประเมินระดับทักษะและความรู้ทางภาษา และนำข้อบ่งชี้จากผลการประเมินมาใช้พัฒนาทักษะในส่วนที่ยังมีจุดอ่อน ดังนั้นการจัดให้มีการทดสอบสมรรถภาพทางภาษาไทยของคนไทยในทักษะการเขียน การอ่าน และการฟัง หรือรวมไปถึงทักษะการพูดในกรณีของคนไทยที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองหรือชาวต่างชาติ จะสามารถใช้ประเมินได้ว่าสมรรถนะทางภาษานั้นเหมาะสมกับการเรียนรู้ในระดับใดและการทำงานในลักษณะใดบ้าง ทั้งยังสามารถพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะและทักษะที่สามารถแข่งขันได้ในสภาวการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่ต้องอาศัยสมรรถนะทางภาษาเพื่อสื่อสารความเข้าใจและ/หรือช่วงชิงประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
           คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เห็นความสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะทางภาษาไทยของนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาและชาวต่างชาติที่จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมและความรู้ในบริบทของประเทศไทยรวมทั้งความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาของประเทศ ที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือหลัก และการยกระดับสมรรถนะของแรงงานในแต่ละอาชีพให้การสื่อสารระหว่างกันเป็นไปด้วยประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้งศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์ขึ้น ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการขยายความร่วมมือเพื่อสร้างมาตรฐานการทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยเช่นเดียวกับมาตรฐานการทดสอบภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ อีกทั้งเป็นการขยายโอกาสให้แก่กลุ่มเป้าหมายในการเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยแก่นักเรียนนักศึกษาไทยและนักเรียนนักศึกษาต่างชาติ ทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และในระดับอุดมศึกษา รวมทั้งนักธุรกิจ ผู้ประกอบอาชีพทั้งที่เป็นชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้สามารถเข้าถึงการทดสอบได้สะดวกและรวดเร็วในมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับการสร้างความรับรู้ต่อบทบาทมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะกลไกหลักของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้โดยศูนย์ภาษาไทยสงขลานครินทร์ที่ประสงค์จัดตั้งขึ้นนี้ จะอาศัยความร่วมมือระหว่าง 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ วิทยาเขตภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี และวิทยาเขตตรัง อันจะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนาสมรรถภาพการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกทั้งเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการคัดเลือกนักศึกษาต่างชาติให้ได้ผู้ที่มีศักยภาพการเรียนรู้ซึ่งต้องการศึกษาในหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาไทย รวมไปถึงผู้ที่ประสงค์เข้าทำงานในหน่วยงานให้มีทักษะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารในการทำงานได้มีประสิทธิภาพ และบุคคลทั่วไปที่ต้องการใช้ผลทดสอบสมรรถภาพภาษาไทยเพื่อโอกาสในการศึกษาและการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ การจัดให้มีการทดสอบสมรรถภาพทางภาษาไทย ยังถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจอันดีของการอยู่ร่วมกันในบริบทของประเทศไทย และช่วยสืบสานภาษาไทยในฐานะวัฒนธรรมของชาติอีกถ่ายหนึ่งด้วย

btn fb
013252