งานประชุมวิชาการเกาหลีวิจัยระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ครั้งที่ 2
(2nd National Conference of Thai Undergraduate on Korean Research)
วันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2565 ณ กระบี่รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ผู้รับผิดชอบ : หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
หลักการและเหตุผล :
ในสังคมปัจจุบันความสามารถทางภาษาเป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองแล้ว การจัดการเรียนการสอนในยุคใหม่ยังให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาที่สามมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาเกาหลีและเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้มีความสามารถที่หลากหลายผ่านรูปแบบการนำเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมวิชาการระดับชาติได้ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเกาหลี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ THE ACADEMY OF KOREAN STUDIES (AKS) สาธารณรัฐเกาหลี ได้มีแนวคิดที่จะจัด “โครงการประชุมวิชาการภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย” ขึ้นเป็นครั้งที่สองของประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีให้กับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาภาษาเกาหลีเป็นวิชาเอกและวิชาโท และรวมถึงนักศึกษาที่มีความสนใจในสาขาวิชาภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษา เพื่อนักศึกษาจะได้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ในสาขาวิชาภาษาเกาหลีเพื่อการศึกษาและสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางด้านภาษาเกาหลีและเกาหลีศึกษาได้อย่างมีระเบียบแบบแผนตามหลักการวิจัย ทั้งนี้ การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ได้กำหนดรูปแบบการนำเสนอผลงานในรูปแบบการบรรยาย (Oral Presentation) ด้วยภาษาเกาหลีและภาษาไทย ซึ่งเป็นไปตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิตของหลักสูตรฯ
วัตถุประสงค์ :
- เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาวิชาภาษาเกาหลีและสาขาที่เกี่ยวข้องในระดับปริญญาตรีได้มีประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานวิจัย
- เพื่อสร้างเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการของนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
- เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
เป้าหมายและผู้เข้าร่วมโครงการ :
- จำนวนบทความวิจัย ทางด้านภาษาเกาหลี ภาษาและวรรณคดีเกาหลี การสอนภาษาเกาหลี หรือเกาหลีศึกษา
ที่นำเสนอโดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 12 บทความ - ผู้เข้าร่วมโครงการจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกมหาวิทยาลัย ได้แก่ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา
และผู้สนใจทั่วไป จำนวน 100 คน